ฐานข้อมูลแผนผังการไหลวัสดุเหลือใช้และกากของเสีย (Waste Flow Database)

 

หลักการและเหตุผล

          ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติประเภทต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงทรัพยากรแร่ซึ่งเป็นหนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เนื่องจากแร่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญในการผลิตสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องอุปโภคบริโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ทว่าแร่เป็นทรัพยากรธรรมชาติประเภทที่ใช้แล้วหมดไป และมีแนวโน้มขาดแคลนเพิ่มขึ้นจากปริมาณสำรองแร่ที่ลดลง ประกอบกับกระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้การขยายพื้นที่ทำเหมืองแร่ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เป็นไปได้ยาก ดังนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วจึงได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการรีไซเคิลของเสียเพื่อแยกสกัดแร่และโลหะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ รวมถึงแปรรูปเป็นพลังงานทดแทน หรือที่เรียกกันในหลายประเทศว่า “การทำเหมืองแร่ในเมือง (Urban mining)” โดยถือเป็นนโยบายสำคัญและเร่งด่วน เนื่องจากเป็นแนวทางที่จะสามารถช่วยลดปัญหาที่กล่าวข้างต้น ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แก้ไขปัญหาโลกร้อน และยังช่วยสนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบในอนาคตให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศอีกด้วย

          จากข้อมูลของเสียที่เกิดขึ้นในประเทศไทยพบว่า มีวัสดุเหลือใช้และกากของเสียที่เกิดขึ้นเฉลี่ย37 ล้านตันต่อปี (เป็นขยะมูลฝอยจากภาคครัวเรือนและสำนักงาน 15 ล้านตันต่อปี และวัสดุเหลือใช้และกากของเสียจากภาคอุตสาหกรรม 19-25 ล้านตันต่อปี) ซึ่งของเสียดังกล่าวหลายๆ ประเภทมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนของประเทศ ทั้งในด้านแร่ โลหะ และพลังงานทดแทน ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ รวมทั้งสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรม ก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรีไซเคิลของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ดังกล่าว และได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำของเสียทั้งจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 ถึง 2554 ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญที่ได้ดำเนินงาน คือ “โครงการจัดทำแผนผังการไหลเชิงยุทธศาสตร์ของวัสดุเหลือใช้และกากของเสีย (Strategic waste flow) เพื่อการพัฒนาเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนของประเทศ” ซึ่งได้จัดทำข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์สนับสนุนการพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ (1) แผนผังการไหลของของเสียครัวเรือนและอุตสาหกรรม (Waste flow) ของของเสียเป้าหมาย 10 ชนิด ได้แก่ ซากเครื่องคอมพิวเตอร์ ซากโทรศัพท์มือถือ ซากเครื่องปรับอากาศ เศษพลาสติก ยางยานพาหนะที่ใช้แล้ว กากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสียโรงงานชุบเคลือบผิวด้วยโลหะ สารเร่งปฏิกิริยาที่ใช้งานแล้วที่มีโลหะพื้นฐานเป็นองค์ประกอบ สารเร่งปฏิกิริยาที่ใช้งานแล้วที่มีโลหะมีค่าเป็นองค์ประกอบ ของเสียจากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และของเสียประเภทน้ำมัน (2) แผนผังการไหลเชิงยุทธศาสตร์ของของเสียเป้าหมาย (Strategic waste flow) ทั้ง 10 ชนิด เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน และสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบในอนาคตให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ (3) ข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการของเสียเป้าหมาย เพื่อให้มีการไหลเป็นไปตาม Strategic waste flow ที่กำหนด ผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์สนับสนุนการบริหารจัดการของเสียดังกล่าวเพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ยังมีของเสียอีกหลายชนิดซึ่งประเทศไทยยังขาดข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์สนับสนุนการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน

          ดังนั้นเพื่อเป็นการขยายผลการดำเนินงาน “โครงการจัดทำแผนผังการไหลเชิงยุทธศาสตร์ของวัสดุเหลือใช้และกากของเสีย (Strategic waste flow) เพื่อการพัฒนาเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนของประเทศ” ที่ได้ดำเนินงานในปีงบประมาณ 2553 และช่วยสนับสนุนกิจกรรม “การดำเนินงานเพื่อพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน” ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทยในฐานะที่ปรึกษาโครงการจึงเห็นสมควรดำเนินโครงการ “โครงการจัดทำแผนผังการไหลเชิงยุทธศาสตร์ของวัสดุเหลือใช้และกากของเสีย (Strategic waste flow) เพื่อการพัฒนาเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนของประเทศ” โดยดำเนินการสำรวจ ศึกษา และจัดทำข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์สนับสนุนการพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนของของเสียเพิ่มเติมอีก 10 ชนิด ซึ่งประกอบด้วย Waste flow และ Strategic waste flow ของของเสียเป้าหมายทั้ง 10 ชนิดรวมทั้งข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการของเสียเป้าหมายดังกล่าว เพื่อให้มีการไหลเป็นไปตาม Strategic waste flow  ที่กำหนด เพื่อผลักดันให้ของเสียกลายเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนด้านแร่ โลหะ และพลังงานให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบในอนาคตให้แก่ภาคอุตสาหกรรมทั้งด้านแร่ โลหะ และพลังงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน อันส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

วัตถุประสงค์

1) เพื่อสำรวจ ศึกษา และจัดทำแผนผังการไหลในปัจจุบันของวัสดุเหลือใช้และกากของเสีย (Waste flow) ในประเทศไทย

2) เพื่อศึกษา และเปรียบเทียบแผนผังการไหลของวัสดุเหลือใช้และกากของเสียเป้าหมายของประเทศไทย กับแผนผังการไหลของวัสดุเหลือใช้และกากของเสียของประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาให้วัสดุเหลือใช้และกากของเสียกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบและพลังงานทดแทนของประเทศ

3) เพื่อจัดทำแผนผังการไหลเชิงยุทธศาสตร์ของวัสดุเหลือใช้และกากของเสีย (Strategic waste flow) ของประเทศไทย เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน และสร้างความมั่นคงทางวัตถุดิบในอนาคตให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

4) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้และกากของเสีย เพื่อให้มีการไหลเป็นไปตามแผนผังการไหลเชิงยุทธศาสตร์ของวัสดุเหลือใช้และกากของเสีย (Strategic waste flow) ของประเทศไทย

5) เพื่อพัฒนา/ปรับปรุงคลังข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สนับสนุนการบริหารจัดการแผนผังการไหลของวัสดุเหลือใช้และกากของเสียของประเทศ